ออกแบบอัตลักษณ์องค์กร (Corporate Identity Design)

Corporate Identity Design ออกแบบอัตลักษณ์องค์กร เพื่อสร้างแบรนด์ให้ไปจับจองที่นั่งในใจผู้คน 

Corporate Identity Design หรือ การออกแบบอัตลักษณ์องค์กร คือคีย์แมสเสจของการสร้าง “แบรนด์ที่นั่งอยู่ในใจเรา”

เพราะเวลาที่จะเลือกซื้อของหรือใช้บริการอะไรสักอย่าง ธรรมชาติของเราจะเลือกอุดหนุนแบรนด์ที่เรานึกออกเป็นอันดับต้นๆ แม้เราอาจไม่เคยนึกถึงเหตุผลว่าเพราะอะไร แต่ที่แน่ๆ เราจะเห็นภาพลักษณ์บางอย่าง พร้อมๆ กับการจำคุณภาพของแบรนด์นั้นๆ ได้

สิ่งนี้แหละที่ทำให้แบรนด์ต่างๆ ลงทุนอย่างมหาศาล เพื่อหาวิธีในการสร้างการรับรู้และจดจำแบรนด์ เพียงเพราะต้องการจับจองที่นั่งในใจนี้ เพราะมันนำไปสู่ การเต็มใจซื้อ-อย่างต่อเนื่อง-ด้วยความเชื่อมั่น ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

การออกแบบอัตลักษณ์องค์กร (Corporate Identity Design) หรือ CI  

คือการออกแบบหน้าตาให้กับองค์กร แบรนด์สินค้าหรือบริการ เพื่อให้แบรนด์

“มีตัวตน” ที่โดดเด่นและแตกต่าง เพื่อให้เราทำความรู้จักและสานต่อมิตรภาพได้

เหมือนกับเป็นคนๆ หนึ่ง

และคนๆ นั้นจำเป็นต้องแสดงความเป็นตัวเอง แบบ best version ตลอดเวลา

โชคดีที่เราสามารถทำให้แบรนด์เป็นอย่างนั้นได้ โดยการวางแผนอย่างระมัดระวัง

ในการฉายภาพตัวตนที่มีเอกลักษณ์น่าจดจำ ด้วยความสม่ำเสมอ 

ความสม่ำเสมอ (Consistency) คือกุญแจไขเข้าไปสู่ความสำเร็จ การรับรู้และจดจำแบรนด์ เป็นกระบวนการที่ต้องสะสมผ่านประสบการณ์ เหมือนถ้าเราจะเชื่อมั่นในตัวใครสักคน ย่อมต้องใช้เวลาพิสูจน์

การออกแบบ CI จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการบอกเล่าคุณค่าตัวตน รวมถึงสถานะของแบรนด์ อย่างเป็นระเบียบแบบแผน โดยสื่อสารผ่าน องค์ประกอบเชิงภาพ (Visual Elements) หรือที่เรียกว่า สินทรัพย์เชิงภาพ (Visual Assets) ที่ทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้อง (Cohesive) ในทุกช่องทางสื่อสาร (Platforms)

องค์ประกอบเชิงภาพ (Visual Elements)

  1. โลโก้ (Logo) 

ตราสัญลักษณ์ หรือ เครื่องหมายการค้า (Trademark) ที่เป็นตัวแทนของแบรนด์หรือองค์กร บรรจุความหมายที่สื่อถึงคุณค่าหลักบางประการ ในสไตล์ที่ตอบบุคลิกและสถานะของแบรนด์

  1. ฟอนต์ / การจัดวางตัวอักษร (Font / Typography) 

การเลือก แบบตัวอักษร (Typeface) ที่ใช้พิมพ์ข้อความทุกชนิด มาช่วยสร้างบุคลิกและน้ำเสียงเฉพาะตัวของแบรนด์

สามารถเลือกจากแบบตัวอักษรที่มีอยู่แล้ว (Retail Fonts) หรือออกแบบขึ้นใหม่ (Custom font) โดยกำหนดจำนวนแบบตัวอักษร 

และน้ำหนัก (Weight) รวมถึงการสร้างแบบแผน (Format) ในการจัดวางข้อความ (Typographic System) เพื่อให้ปรับใช้งานได้ตามความเหมาะสมในทุกแพลทฟอร์ม

  1. ภาพ (Imagery) 

การกำหนดรูปแบบ (Style) ของ ภาพทุกชนิด ที่จะนำมาใช้ในสื่อต่างๆ เช่นภาพถ่าย ภาพประกอบ ไอคอน ภาพเคลื่อนไหว ฯลฯ รวมถึง กราฟิกตกแต่ง ที่เข้ามาช่วยในการสื่อสาร เช่น แพทเทิร์น ลายเส้น แบคกราวด์ ฯลฯ โดยเลือกให้เหมาะกับบุคลิกแบรนด์และตอบประโยชน์การใช้งานในแต่ละโอกาส

     4. สี (Color Scheme)

องค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้คนจดจำแบรนด์ได้มากกว่า 80% การกำหนด ชุดสี และ รหัสค่าสี ต่างๆ เป็นไปเพื่อความเที่ยงตรง แม่นยำในการใช้งาน เช่น ค่า CMYK ที่ใช้กับงานสิ่งพิมพ์ ค่า RGB ที่ใช้บนจอ หรือค่า Pantone ที่ใช้กับงานสิ่งพิมพ์รวมทั้งงานประเภทอื่นๆ  

5. คู่มืออัตลักษณ์องค์กร (Corporate Identity Manual) 

CI Manual หรือ Design Guideline / Brand Guideline เป็น คู่มือ ที่ใช้ กำกับดูแลอัตลักษณ์องค์กร ให้สามารถสื่อสารตัวตนได้อย่างถูกต้อง เป็นระบบ และมีความสม่ำเสมอ โดยบอกแนวทางการจัดการกับ องค์ประกอบเชิงภาพทั้ง 4 : โลโก้ ฟอนต์ ภาพ และ สี ที่จะปรากฎอยู่ในงานออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์ รวมถึงวัตถุสิ่งของต่างๆ ขององค์กร (Corporate Items) 

ภายในเล่มจะมีการระบุ กฎเกณฑ์ / วิธีใช้งาน (Rules & Instructions) ของทุกองค์ประกอบอย่างละเอียด ในรูปแบบของ ระบบกริด (Grid System) และ เลย์เอาท์ตัวอย่าง (Layout Templates) 

แต่ละองค์กร หรือแบรนด์ จะมีจำนวนชิ้นงานของ Corporate Items ที่แตกต่างกันตามเงื่อนไขความต้องการและความจำเป็นในการใช้งาน

FYI:

  • ระบบ CI = การใส่ใจในทุกปฏิสัมพันธ์

แบรนด์ที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดสามารถสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิด

ที่ดีกับเราได้  

  • ระบบ CI สามารถปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับความต้องการได้หลายระดับ (Customized) ฉะนั้นไม่ว่าแบรนด์จะเล็กแค่ไหน ก็สามารถมี CI Manual ที่ครอบคลุมเนื้องานตามที่จำเป็น 
  •  การมีระบบ CI ที่ดี คือการสื่อสารคุณค่าจากภายในสู่ภายนอก

ความภาคภูมิใจของทีมงานที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ที่ดี เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

  • CI เป็นการออกแบบเปลือกของข้อมูล ให้ตรงกับคุณค่าที่อยู่ข้างใน คือทำให้แบรนด์ดูดี สมกับที่มีดี

ดังนั้น เปลือกที่ดี ช่วยแบรนด์ที่คุณภาพไม่ดีไม่ได้ 

แต่เปลือกที่ดี ช่วยทำให้แบรนด์ที่คุณภาพดีกลายเป็นแบรนด์ที่เลิศได้