มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
➜ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (Srinakharinwirot University) หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อย่อว่า ‘มศว’ (SWU) มหาวิทยาลัยชั้นนำที่เปิดดำเนินการมากว่า 70 ปี แทรกตัวอยู่ใจกลางย่านอโศก ท่ามกลางการจราจรที่คับคั่ง ตึกคอนกรีตสูง และผู้คนในชุดพนักงานบริษัทที่เดินกันขวักไขว่ แสดงถึงความเป็นย่านธุรกิจสำคัญของกรุงเทพมหานคร
จากโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง สู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ
ในปัจจุบันภาพจำของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นสถานที่ผลิตบุคลากรที่มีชื่อเสียงในธุรกิจและวงการบันเทิงเป็นจำนวนมาก แต่อันที่จริงแล้ว หากย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้นเมื่อ พ.ศ. 2492 สถานที่แห่งนี้เคยมีชื่อเสียงเรื่องการผลิตครูมาก่อนในฐานะ ‘โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง’ จากนั้นจึงได้รับการยกฐานะเป็น ‘วิทยาลัยวิชาการศึกษา’ ขยายวิทยาเขตไปยังจังหวัดต่างๆ จนท้ายที่สุดได้ขยับสถานะเป็น ‘มหาวิทยาลัย’ ใน พ.ศ. 2517 โดยได้รับพระราชทานชื่อ ‘ศรีนครินทรวิโรฒ’ อันมีความหมายว่า มหาวิทยาลัยที่เจริญ เป็นศรีสง่าแก่มหานคร และได้เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐอย่างเต็มตัวใน พ.ศ. 2559
ด้วยระยะเวลากว่า 70 ปีที่มหาวิทยาลัยได้ทำงานด้านการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง ทางทีมผู้บริหารและคณาจารย์ได้เห็นพ้องถึงความจำเป็นในการปรับปรุงอัตลักษณ์ให้ทันสมัย (Identity Redesign) ตลอดจนมีระบบการสื่อสารที่มีมาตรฐานเพื่อรองรับการเติบโตของมหาวิทยาลัยในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในทุกๆ การเปลี่ยนแปลงย่อมมีความจำเป็นที่ทางลูกค้าจะต้องใคร่ครวญให้แน่ใจ และมี ‘ภาพของตนเองในอนาคตให้ชัด’ เพราะความชัดเจนในส่วนนี้จะมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการกำหนดทิศทางการออกแบบ โดยเฉพาะในส่วนอัตลักษณ์องค์กร
คนเดิมที่ดูใหม่
การเปลี่ยนแปลงนั้นมีหลายระดับ หากเปรียบองค์กร หน่วยงาน สถาบัน หรือแบรนด์สินค้าเป็นคนคนหนึ่ง การเป็น ‘คนเดิมที่ดูใหม่’ กับ ‘คนใหม่’ นั้นมีเจตจำนงที่แตกต่างกันมาก ในมิติของการออกแบบ เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเจตจำนงนี้ให้ถ่องแท้ คนใหม่ย่อมต้องการการเปลี่ยนแปลงในระดับที่สูงกว่าคนเดิมที่ดูใหม่ แต่ไม่ว่าจะต้องการเป็นคนเช่นไร เราก็ควรรู้จักตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม
การทบทวนตนเองเพื่อสำรวจข้อดีและข้อด้อยถือเป็นขั้นตอนพื้นฐานแรกสุดที่พึงกระทำ เมื่อทราบถึงข้อเท็จจริงทั้งสองส่วน จึงจะนำไปสู่การสร้างกรอบที่ชัดเจนว่าจะจัดการตนเองใหม่ในแง่มุมใด สำหรับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พวกเขามองตนเองว่าเป็นสถาบันการศึกษาอันเก่าแก่ แต่ในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องตามให้ทันองค์ความรู้ใหม่ๆ และสื่อสารกับคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ อีกทั้งภายในองค์กรยังประกอบด้วยคนทำงานหลากหลายวัย ดังนั้นการสงวนข้อดีและปรับปรุงข้อด้อยสู่การ ‘เป็นคนเดิมที่ดูใหม่’ จึงเป็นทิศทางที่ทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัยพึงพอใจมากที่สุด
การปรับอัตลักษณ์และออกแบบชุดตัวอักษรประจำมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ในการรับรู้ของผู้คนโดยทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเป็นหนึ่งในสถาบันที่ทันสมัย แต่ความรู้สึกเดียวกันนี้กลับไม่ถูกส่งผ่านไปพร้อมกับตราสัญลักษณ์เดิมที่ใช้อยู่ อีกทั้งรูปแบบการใช้ตัวอักษรเพื่อการสื่อสารตามหน่วยงานต่างๆ ก็ยังขาดการจัดการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับมหาวิทยาลัย ทางทีมออกแบบของ คัดสรร ดีมาก จึงแบ่งกรอบการทำงานออกแบบ 3 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้
1. ชุดตัวอักษร Srinakharinwirot
แบบตัวอักษร (Typeface) นั้นนอกจากจะทำหน้าที่บรรจุข้อความและส่งผ่านข้อมูลไปยังผู้รับแล้ว ยังบ่งบอกด้วยว่าเจ้าของข้อความนั้นเป็นคนแบบไหน การออกแบบชุดตัวอักษรให้กับองค์กรจึงเปรียบเหมือนการสร้างน้ำเสียงเฉพาะที่ไม่ซ้ำใคร เพื่อให้แน่ใจว่าใจความนั้นจะถูกเปล่งออกมาด้วยสำเนียงที่เหมาะสมและคงที่
สำหรับชุดตัวอักษร Srinakharinwirot นั้นได้รับการออกแบบให้อยู่ในประเภทตัวอักษรไทยแบบไร้หัว (Loopless Terminal) เข้าคู่กับตัวอักษรละตินในตระกูล Humanist Sans Serif งานในส่วนนี้ดูแลการออกแบบโดย คนัช อุยยามาฐิติ และทำ Post-Productionโดย ศุภกิจ เฉลิมลาภ ด้วยเพราะงานด้านการศึกษาเป็นสิ่งที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนมาก แบบตัวอักษรในกลุ่ม Humanist ที่เก็บรักษาร่องรอยการเขียนไว้อย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะด้วยการตวัดเส้น หรือการตัดปลายจบของตัวอักษรด้วยองศาที่เป็นไปตามธรรมชาติการเขียน จึงตอบโจทย์การเป็นชุดตัวอักษรสำหรับสถาบันการศึกษา
นอกเหนือจากความเหมาะสมในเรื่องของแบบแล้วนั้น เงื่อนไขของการนำไปใช้งานที่ต้องการใช้เป็นตัวพาดหัวและแสดงชื่อคณะคู่กับตัวโลโก้ก็เป็นอีกปัจจัยในการกำหนดแบบ จึงต้องสำรวจดูชื่อคณะที่ยาวที่สุดเพื่อนำมาใช้ในการกำหนดความกว้างของตัวอักษร เมื่อนำมาใช้งานคู่กับโลโก้ ภาพรวมที่ปรากฏก็จะดูไม่ยาวจนเกินไป จึงเป็นเหตุให้แบบของชุดตัวอักษร Srinakharinwirot นั้นเป็นทรงแคบ และจำเป็นจะต้องมีความหนาที่เพียงพอสำหรับการใช้เป็นตัวพาดหัว
ชุดตัวอักษรชนิดนี้ให้ความรู้สึกที่เป็นมิตร อ่านง่าย ช่วยประหยัดพื้นที่ในการพิมพ์ชื่อคณะและหน่วยงานที่มีความยาวโดยไม่สูญเสียความชัดเจนในการอ่าน เอกลักษณ์อันโดดเด่นอีกประการของตัวอักษรชุดนี้คือการกระจาย ‘ส่วนโค้ง’ จาก ‘เส้นกราฟแสดงการเจริญเติบโต’ ที่อยู่ภายในตราสัญลักษณ์หลักของมหาวิทยาลัยลงไปในตัวอักษรต่างๆ
Srinakharinwirot ถูกจัดทำขึ้นเพียง 1 น้ำหนัก ด้วยเงื่อนไขของการใช้งานเพื่อเป็นตัวพาดหัว (Heading) โดยใช้งานร่วมกับชุดตัวอักษร Sarabun ในส่วนเนื้อความ (Body Text)
2. ตราสัญลักษณ์หลัก ตราสัญลักษณ์คณะ และตราสัญลักษณ์รอง
ตราสัญลักษณ์หลัก (Primary Logo) ของมหาวิทยาลัยถูกปรับปรุงรายละเอียดในจุดต่างๆ เช่น วงแหวนกรอบนอกที่ปรับให้เป็นสี่เหลี่ยมขอบมนแบบขนมไหว้พระจันทร์ซ้อนกัน 2 ชิ้น ลดรายละเอียดในลายเส้นวงแหวนปีกนก ปรับลวดลายไทยที่ไม่สามารถมองเห็นรายละเอียดได้ในขนาดเล็กให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน และแทนที่ตัวอักษรแบบมีหัว (Loop Terminal) ชุดเดิมให้เป็นชุดตัวอักษร Srinakharinwirot แบบไร้หัว แต่รูปแบบการจัดวางยังคงอ้างอิงจากแบบดั้งเดิม ทั้งหมดถูกจัดวางอยู่ในตารางสัดส่วนโครงสร้าง (Grid Construction) ที่เหมาะสม
ในขณะที่ตราสัญลักษณ์คณะได้ทำการลดรูปลงจากตราสัญลักษณ์หลัก โดยสลับตำแหน่งชื่อมหาวิทยาลัยไปกำกับต่อท้ายชื่อคณะและหน่วยงานต่างๆ พร้อมด้วยแถบสีของแต่ละหน่วยงาน
สำหรับตราสัญลักษณ์รอง (Secondary Logo) ถูกออกแบบเป็นอักษรย่อ (Letterform) ที่แฝงเอกลักษณ์ส่วนโค้งจากเส้นกราฟแสดงการเจริญเติบโตจากตราสัญลักษณ์หลักลงในตัวอักษร SWU และ มศว ตราสัญลักษณ์เวอร์ชันนี้จะถูกใช้งานในส่วนงานกิจกรรม สันทนาการ หรือหัวของวารสารประจำมหาวิทยาลัย
3. รูปแบบการใช้งานและคู่มือระบบอัตลักษณ์
เพื่อสร้างมาตรฐานการใช้งานตราสัญลักษณ์ ชุดตัวอักษร ค่าสี และองค์ประกอบกราฟิกต่างๆ ทางทีมออกแบบของ คัดสรร ดีมาก ได้ทดลองทำตัวอย่างการใช้งานบนสิ่งพิมพ์ ป้ายอาคาร สื่อออนไลน์ และเสื้อยืด พร้อมจัดทำคู่มือระบบอัตลักษณ์ (Identity Guideline) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเครื่องมืออ้างอิงให้ฝ่ายออกแบบของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานในสังกัดสามารถนำไปทำงานต่อได้บนมาตรฐานเดียวกัน
ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่ว่า ‘การศึกษาคือความเจริญงอกงาม’ (Education is Growth) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทุกสิ่งจะเติบโตงอกงามได้ ย่อมต้องผ่านการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ผ่านมาแล้ว 70 ปี ใช่ว่าคุณครูคนนี้จะสดใหม่ขึ้นไม่ได้ในปีที่ 71